นี่คือบุคคลแห่งยุคผู้พลิกโฉมหน้าวงการแฟชั่น และเจ้าของบริษัท Inditex Group อันมีแบรนด์ที่โด่งดังและทุกคนรู้จักอย่างแน่นอน อาทิเช่น Zara Pull&Bear และ Massimo Dutti เป็นต้น เขาคือ Amancio Ortega ชายจากแดนกระทิงดุที่สามารถเขย่าวงการแฟชั่นได้ด้วยความเร็ว
-
ชีวิตในวัยเด็กของเจ้าของ Zara
ชีวิตในวัยเด็กของ Amancio ค่อนข้างจะยากแค้นแสนเข็ญถึงขนาดที่ครอบครัวไม่สามารถหาเงินมาพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ เขาเติบโตมาได้ด้วยเงินของพ่อ ผู้เป็นพนักงานรถไฟในแคว้น Galicia ประเทศสเปน และเมื่อได้วัย 14 ขวบ เขาจำต้องออกจากโรงเรียนและทำงานเป็นผู้ช่วยร้านตัดเสื้อแห่งนึงที่ชื่อ Gala ในเมือง La Coruna และที่นั่นเอง เขาได้เรียนรู้วิธีการตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายต่างๆด้วยมือ และนั่นยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากทำธุรกิจของตัวเอง โดยแบรนด์แรกที่ใช้ชื่อว่า GOA และหลังจากนั้น Zara ก็ถือกำเนิดเมื่อ Amancio Ortega มีอายุเข้าสู่เลข 4

-
จุดเริ่มต้นของแบรนด์แห่งความเร็ว
Zara เป็นผลผลิตมาจาก การที่เขาและภรรยาต้องการจะผลิตเสื้อผ้าที่หลากหลายและดูเท่าทันยุคสมัย แต่ความเป็นส่วนตัวของเขานั้นก็ถูกปกปิดมาตลอด จนกระทั่งปี ค.ศ. 2001 เมื่อ Inditex Group (บริษัทแม่ของZara) ได้เข้า IPO ที่ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสเปน Amancio จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเองสู่สาธารณะชนเป็นครั้งแรก และนับแต่นั้นมาโลกถึงได้เห็นหน้าค่าตาของเจ้าของ Zara
-
ที่มาของความสำเร็จ
Amancio และ Zara ได้ทำให้ทั้งโลกสั่นสะเทือนด้วยวิธีพลิกตลาดของเขา หรือถ้าภาษาสมัยนี้ก็จะเรียกว่า “disrupt” นั่นเอง สิ่งที่เขาเสนอให้กับอุตสาหกรรมตั้งแต่เริ่มสร้าง Zara คือความเร็ว โดยทั่วๆ ไปแล้วเราน่าจะคุ้นเคยกับเสื้อผ้าที่จะออกตามฤดูกาล อย่างเช่น Fall/WinterหรือSummer/Autumn ซึ่งนั่นทำให้เสื้อผ้านั้นจมอยู่กับที่ไปตลอด 3-6 เดือน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่ Zara ต้องการเสนอเสื้อผ้าใหม่ๆ เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้บริโภคด้วยการออกเสื้อผ้า line ใหม่ 2 ครั้งต่ออาทิตย์เลยก็ว่าได้ ซึ่งนั่นก็แปลว่าเสื้อผ้าในช็อปจะอยู่บนชั้นได้ไม่นาน หลังจากนั้นก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็น collection อื่นๆทันที ด้วยกลยุทธ์นี้ทำให้ผู้บริโภคที่รักการแต่งตัวจะต้องกลับมาที่ Zara บ่อยขึ้น เพื่อมองหาอะไรใหม่ๆ ให้กับ ตัวเอง
ส่วนงานดีไซน์ของ Zara ถึงแม้จะไม่ได้เน้น ความสร้างสรรค์เหมือนแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ ตามท้องตลาด แต่เน้นไปที่ความเข้าใจของตลาดเสื้อผ้าและผู้บริโภค หากลองวิเคราะห์ Brand Position ของ Zara ดูแล้ว ก็จะรู้สึกได้ว่า Zara ให้ความรู้สึกที่เรียบง่าย ดูหรู แต่มีราคาสมเหตุสมผล ซึ่งทางตะวันตกใช้คำว่า “affordable high fashion” ซึ่งแปลภาษาไทยบ้านๆว่า เสื้อผ้าดูแพงด้วยราคาที่สบายกระเป๋า ด้วยการจับจุดตรงนี้เองทำให้ Zara ต้อง “politely copy” แบรนด์เสื้อผ้า hi-end ต่างๆ หรือสิ่งที่กำลังฮิตติดตลาดและนำมาปรับเปลี่ยน แก้ไข จากความเห็นของผู้บริโภคนับพันนับหมื่นคน และค่อยส่งไปให้โรงงานผลิต ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าภายใต้แบรนด์ Zara จะได้เสื้อผ้าที่คุณภาพค่อนข้างดี และมีความทันสมัย ดูไฮโซ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Zara ดังเป็นพลุแตกจนถึงปัจจุบัน

-
กุญแจสำคัญ
อีกสิ่งนึงที่ Amancio ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อตอบสนองเทรนด์แฟชั่นที่ไปเร็วมาเร็วนั่นก็คือ Supply chain และสิ่งนี้เองก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ Zara ชนะคู่แข่งและสร้าง Double digit growth ได้ หากใครเคยไปต่างประเทศและลองเข้า Zara ตามประเทศนั้นๆอยู่บ่อยๆ จะสังเกตได้ว่าป้ายบอกไซส์จะบอกประเทศที่ผลิตที่อยู่ใกล้ประเทศนั้นๆที่สุด ตัวอย่างเช่น หากเราไปช้อปปิ้ง Zara ที่สเปน เราจะเห็นป้ายเขียนว่า “made in Morocco” “made in Portugal” หรือบางทีก็ “made in Spain” หรือประเทศแถบๆนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากที่ Zara ยอมสละกำไรนิดหน่อยและตั้งโรงงานใกล้ๆ เพื่อตอบสนองความเร็วในการขนส่งที่เป็นดั่งกุญแจสำคัญของ Zara นั่นเอง
ส่วนคำถามที่ว่าด้วยความเร็วขนาดนี้ ถ้าเสื้อผ้าขายไม่หมดมันจะไปที่ไหน คำตอบคือ Zara เองนั้นจะไม่ทำสต็อคเสื้อผ้าให้เยอะๆ ซึ่งนั่นทำให้ผู้บริโภครู้สึกอีกอยากซื้อมากไปอีก ดั่งเช่นที่ฝรั่งเค้าเรียกว่า “Now or Never” และยังสามารถลดต้นทุนในการทำ inventory ไปได้อีกด้วย นอกจากนี้ Amancio และ Inditex Group ได้ให้กำเนิดแบรนด์ขึ้นมาอีกแบรนด์นึงเพื่อนำสินค้าเก่าของ Zara มาขาย โดยใช้ชื่อว่า “Lefties” ซึ่งมาจากคำว่า Leftovers นั่นเอง เรียกได้ว่าคิดอย่างรอบคอบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแล้วทีเดียว

Amancio Ortega นั้นไม่ได้มีเพียงอาณาจักรแฟชั่น Inditex Group เพียงอย่างเดียว Amancio นั้นยังได้ตั้งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของตนเองถึง 2 บริษัทเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศสเปนและในต่างประเทศอีกด้วย บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเขาก็ส่งผลดีต่อ Inditex Group ของเขาเช่นกัน เมื่อเขาได้เข้าไปซื้อที่ดิน อาคาร ที่เป็นแหล่งช้อปปิ้งในเมืองนั้นๆ อย่างเช่น Barcelona, New York, Chicago, Miami, San Francisco, Berlin และ London เพื่อปล่อยเช่าพื้นที่ให้กับแบรนด์เสื้อผ้าของเขาเองโดยไม่ขึ้นค่าเช่าแม้แต่สลึงเดียว ทำให้Inditex Group ตัดปัญหาเรื่องค่าเช่าที่ไปได้เยอะพอสมควร ซึ่ง ณ ตอนนี้อสังหาริมทรัพย์ของเขามีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว
ถึงแม้ตอนนี้ Amancio จะมีอายุเข้าเลข 8 เข้าไปแล้วแถมรวยมหาศาลติด Top 10 ของโลกเรียบร้อย และเกษียณจากตำแหน่ง CEO ของบริษัทมานานแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยังไปที่สำนักงานใหญ่ของ Inditex Group อยู่ทุกวันเพื่อทำงานเฉกเช่นคนธรรมดาคนนึง จากคำบอกเล่าของผู้บันทึกประวัติของ Amancio และพนักงานใน Inditex Group ได้ให้รายละเอียดว่า Amancio ทำงานร่วมกับพวกเขาเปรียบดั่งหัวหน้าทีมและมีความเป็นกันเองมาก ไม่ถือตัว และปฏิบัติตัวเหมือนไม่ใช่ผู้บริหาร Amancio นั้นไม่ชอบนั่งในห้องผู้บริหาร แต่ชอบที่จะออกไปพูดคุย และร่วมทำงานกับเหล่า designer ของบริษัท แถมยังไม่มีการเรียกประชุมสามัญด้วยซ้ำ ส่วนเวลาพักทานข้าวเที่ยงของบริษัท Amancio เองก็ชอบไปนั่งทานข้าวร่วมกับ designer ของเขาเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้แฟชั่นอีกด้วย ซึ่งในจุดนี้การบริหารงานของเขาจึงเหมือนกับ พ่อสอนลูก หรือพี่สอนน้อง ซึ่งก็เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานของ Inditex Group ได้เป็นอย่างดี หากวันไหน Amancio ขับรถมาทำงาน และพบสิ่งที่น่าสนใจระหว่างทาง เขาก็จะเอาเรื่องนี้ไปคุยกับ designer ทันที เพื่อนำไอเดียดังกล่าวเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ของ Zara ในทันที
-
เคล็ดลับความสำเร็จ
อย่างที่บอกไว้ว่าก่อนหน้าปี 2001 แทบไม่มีใครรู้จักและไม่ค่อยมีใครได้สัมผัสชีวิต Amancio Ortega ผู้สรรสร้าง Zara ให้เป็นแบรนด์ระดับโลก แต่สิ่งที่ Amancio มีคล้ายๆ กับนักธุรกิจท่านอื่นๆ ก็คือความเรียบง่ายในชีวิต Amancio นั้นไม่เคยใส่เสื้อผ้าที่มียี่ห้อและจะไม่ใส่เสื้อผ้าของ Inditex Group แม้แต่ชิ้นเดียว มีเพียงเสื้อเชิ้ตเรียบๆ กางเกงขายาวสีเทา และเสื้อสูทสีน้ำเงินเพื่อความเป็นทางการขึ้นนิดหน่อย เท่านั้นในวันทำงาน เขาเป็นคนบ้างานและอุทิศตัวให้กับบริษัทตัวเองอย่างมากจึงมีเวลาออกไปพักผ่อนน้อยครั้ง และผู้คนในเมือง La Coruna ยังพบเจอ Amancio เป็นประจำตามสถานที่ที่เขาชอบไป ไม่ว่าจะเป็น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือย่าน downtown ของเมือง ส่วนด้านงานอดิเรกนั้น เขาเป็นคนที่ชอบขี่ม้าถึงขั้นซื้อกิจการศูนย์ขี่ม้าเอาไว้และยังชอบเลี้ยงไก่และแพะยามว่าง และด้วยวัย 81 ปีเขาก็ชอบที่จะนั่งเล่นพบปะหลานๆ ของเขาในวิลล่าของเขา ในทางกลับกันเขาก็ยังมีเวลาว่างให้กับงานการกุศลต่างๆ ซึ่งเขาได้ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ และยังมีมูลนิธิที่สนับสนุนงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และการศึกษาอีกด้วย

สุภาษิตจีนที่ว่า “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน” ถือเป็นบทสรุปง่ายๆ ของ Amancio Ortega ผู้มีความมุมานะที่จะเปลี่ยนชะตาชีวิตตัวเองจากฐานะยากจนจน ณ ตอนนี้คือ 1 ใน 10 เจ้าสัวของโลกในยุคนี้ สิ่งที่ Amancio ได้สอนให้กับเราในการทำธุรกิจนั้นก็คือ “ความกล้า” ความกล้าที่จะเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ ความกล้าที่จะสร้างสิ่งใหม่ให้กับโลก แต่อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกันก็คือ “ความเข้าใจ” ความเข้าใจทั้งในด้านของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมที่ตัวเองยืนอยู่ล้วนเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสิ่งหนึ่งในการทำธุรกิจ หากปราศกาจความเข้าใจแล้ว เราจะไม่สามารถสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในตลาด และจะไม่สามารถยืนหยัดได้นาน สุดท้ายเรื่องราวของ Amancio ได้สอนเราอีกว่าการทำธุรกิจไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หากแต่เป็นความวิริยะอุตสาหะที่นำมาซึ่งความสำเร็จดั่งคำที่ว่า “LABOR OMNIA VINCIT”