อยากเปิดพอร์ตหุ้น เริ่มยังไง? เลือกเจ้าไหนดี?

สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจลงทุนในหุ้น ไม่ว่าจะเทรดหุ้นรายวัน, การซื้อหุ้นเพื่อรับเงินปันผล หรือ การออมหุ้น DCA สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกสุด คงหนีไม่พ้นการเลือก “โบรกเกอร์” ที่จะเปิดพอร์ตด้วย เพราะพวกเขาคือคนกลางที่คอยดูแลจัดการการ ซื้อ-ขาย หลักทรัพย์แทนเรา หรือพูดง่ายๆ คือเป็นคนดูแล “เงินและสินทรัพย์” ทั้งหมดที่อยู่ในพอร์ตเรานั่นเอง

แล้วจะเลือก “โบรกเกอร์” ยังไงให้ดีและเหมาะสมกับตัวเรา? ในเมื่อในตลาดมีโบรกเกอร์ที่พร้อมให้บริการเรากว่า 30 บริษัท! วันนี้เราจึงมี 5 ข้อ ที่ควรพิจารณาก่อนการเลือกโบรกเกอร์ เพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณเลือกโบรกเกอร์ที่เหมาะกับตัวเอง มีอะไรบ้างมาดูกัน

1. เป็นโบรกเกอร์ที่ มีความน่าเชื่อถือ มีใบอนุญาตถูกต้อง

คงไม่มีใครอยากเอาเงินของตัวเองไปฝากไว้ กับคนที่ไว้ใจไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินหลัก 100 หรือ หลัก 10,000 ทุกคนคงอยากลงแล้วให้เงินมันงอกเงยทั้งนั้น ย่อมไม่มีใครอยากถูกโกงแม้ว่าเงินจำนวนนั้นจะมากน้อยแค่ไหน

ดังนั้นเหตุผลด้านความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก ซึ่งการตรวจสอบก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการดูรายชื่อบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการและเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ที่นี่ https://www.set.or.th/set/memberlist.do

2. ระบบการทำธุรกรรมปลอดภัย ไม่ยุ่งยาก

เหตุผลที่โบรกเกอร์จะถือเงินของคุณไว้มีข้อเดียว คือเป็นหลักประกันสำหรับการเทรด ดังนั้นการฝากและถอนเงินของคุณเอง จึงควรทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และไม่ซับซ้อน แต่ต้องปลอดภัย

หากโบรกเกอร์ไหน การฝากและถอนเงินต้องมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน ก็ลองเทียบกับบริการของเจ้าอื่นดูก่อน ในเมื่อในตลาด ยังมีโบรกเกอร์อื่นๆ ที่พร้อมจะทำงานให้คุณได้ ทั้งสะดวกและรวดเร็ว เรื่องอะไรที่ลงทุนแล้วจะไม่ได้เงินตอนที่อยากจะได้ล่ะ?

3. ค่าธรรมเนียม ค่าคอมมิชชั่น สมเหตุสมผล

การเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์มาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า “ค่าคอมมิชชั่น” ซึ่งเป็นค่าตอบแทนการใช้บริการของโบรกเกอร์ ทุกครั้งที่คุณทำการซื้อหรือขายนั่นเอง

ดังนั้น เพื่อการประหยัดต้นทุนของการซื้อขายหุ้น ที่เราเลือกได้ ก็ควรจะเปรียบเทียบค่าคอมมิชชั่นของโบรกเกอร์ ของบัญชีแต่ละประเภท ค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำต่อวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาเพื่อประเมินความสมเหตุสมผล และเลือกโบรกเกอร์ที่เหมาะสมกับวิธีการลงทุนของคุณมากที่สุด

4. ผู้ดูแลนักลงทุน รู้จริง ไว้ใจได้

โบรกเกอร์ก็ไม่ต่างกับผู้ให้บริการต่างๆ ปัญหาในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และคุณก็ต้องพึ่ง “มาร์เก็ตติ้ง” หรือผู้ดูแลนักลงทุน IC นี่แหละที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้คุณ

ก็ควรเลือกโบรกเกอร์ที่มีผู้ดูแลนักลงทุนที่สามารถติดต่อได้รวดเร็ว, ให้คำแนะนำการซื้อขายได้เหมาะสม สามารถจัดการคำสั่งซื้อขายได้เร็ว รวมถึงแก้ไขสถานการณ์ได้ทันใจ

ถือเป็น “บริการหลังการขาย” ที่เราทุกคนอยากเจอ โดยเฉพาะเมื่อมาร์เก็ตติ้ง ที่มีความรู้ ข้อมูลลึก จริงใจและใส่ใจกับผลประโยชน์ของเราจริงๆ ก็จะทำให้เราสามารถใช้บริการกับเขาต่อไปนานๆ ได้อย่างสบายใจ

5. บริการเสริม และสิทธิประโยชน์อื่นๆ คุ้มค่า

สำหรับหลายๆคน คุณสมบัติข้อนี้อาจเป็นสิ่งที่คุณคิดว่าต้องพิจารณาน้อยที่สุด แต่อย่าได้มองข้ามมันไปเชียว เพราะบริการเสริมและสิทธิประโยชน์อื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็นบทวิเคราะห์, รายงานวิจัยต่างๆ ,บริการอัพเดทข้อมูลข่าวสาร, แอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนจากโบรกเกอร์, สิทธิประโยชน์จากการเก็บแต้ม หรือการเชิญไปสัมมนาฟรีก็ดี

การเลือกบริการเสริมเหล่านี้อาจเป็นตัวช่วยอย่างดี ที่ช่วยให้คุณจัดการการลงทุนได้ตามอย่างที่คิด และได้ประโยชน์อย่างที่ควรจะได้ตามแบบที่เราต้องการ

Facebook Comments
SHARE
Salary Investor
“คนทำงาน” ที่ชอบลงทุนกับความรู้ เพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น