ถ้านึกถึงธนาคาร สำหรับผม (คนที่ไม่ค่อยมีเงินในบัญชี) คงจินตนาการถึงสถาบันการเงินที่เคร่งขรึม มีอำนาจอยู่ในกำมือผ่านเงินทุนที่มีมากมาย และเวลาที่เราๆ ท่านๆ อยากได้เงินกู้หรือขอความช่วยเหลือด้านการเงินก็ต้องเดินตัวลีบเอามือกุมเป้าเข้าไปขอร้อง แต่นอกจากธนาคารพาณิชย์แบบนี้ ซึ่งเราเห็นได้ทั่วไปแล้ว ยังมีธนาคารอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นพัฒนาสังคมโดยรวม กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับล่างคึกคักขึ้น แถมยังช่วยเหลือคนยากไร้และวางแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการต่อสู้ความยากจน
หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ ธุรกิจธนาคารที่มุ่งสร้างกำไรเชิงพาณิชย์ จะสามารถช่วยเหลือและพัฒนาสังคมไปได้อย่างไร อะไรคือแนวคิดหลัก และจะสามารถดำเนินกิจการอยู่ได้อย่างไร เรามาทำความรู้จักกับระบบธนาคารแบบนี้กันดีกว่าครับ
ธนาคารที่ช่วยชีวิตคนนับล้าน
เมื่อดอกเตอร์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัย Vanderbilt ในสหรัฐฯ อย่าง Muhammad Yunus กลับบ้านเกิดที่บังคลาเทศในปี 1974 แล้วพบว่าทั้งประเทศกำลังประสบกับปัญหาความยากจนและความอดอยาก เขาจึงได้นำเอาความรู้ทางด้านการเงินของตัวเอง มาทำการวิจัยเกี่ยวกับการสร้าง Micro-credit หรือการปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กให้กับคนยากจนในชุมชนชนบท โดยเขาเชื่อว่าคนจนต้องการเครดิตหรือ “ความเชื่อมั่นในตนเอง” มากกว่าเงินสนับสนุนที่ให้เปล่าเหมือนการกุศลเสียอีก หลังจากได้ทฤษฎีที่ Yunus คิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับกลุ่มตัวอย่าง เขาจึงเริ่มทดลองจริงด้วยเงินตัวเอง
เขาปล่อยเงินกู้จำนวน 27 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 900 บาท) ให้กับ 42 ครอบครัว เพื่อเป็นเงินทุนในการตั้งต้นทำธุรกิจของตัวเอง หรือเอาไปลงทุนในการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนบังคลาเทศ โดยไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินจริง หรือทวงหนี้สินแบบขู่กรรโชก อย่างที่คนยากจนในบังกลาเทศ มักประสบจากพ่อค้าเงินกู้หน้าเลือด
ทฤษฎีหลักที่ใช้ในการวิจัยจนถึงการทดลองจริงของ Yunus ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ เขาจึงพัฒนางานวิจัยนี้ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะใช้ในวงกว้างอย่างครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะ Yunus รู้ดีว่าปัญหาความยากจนที่ประเทศเขากำลังเผชิญนั้นหนักหนาเพียง อีกทั้งยังต้องสร้างความต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความมั่นคง ไม่ล้มไปเสียก่อน
เขาใช้ความรู้ความสามารถด้านการเงิน และความช่วยเหลือจากโครงการเศรษฐกิจชนบทของมหาวิทยาลัย Chittagong จนพัฒนา Concept ของ “Grameen Bank” (แปลตรงตัวว่า ธนาคารของหมู่บ้านในภาษาเบงกาลี) ได้สำเร็จในปี 1976
ทั้งแนวคิดและการให้บริการของธนาคาร Grameen ได้รับความนิยมอย่างสูง มันทำให้เหล่าคนยากจนได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเล็กๆ ของพวกเขาสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม มันลบล้างอคติที่ว่าคนจนมักจะก่อให้เกิดหนี้เสียและทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ในทางตรงกันข้าม ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากได้ใช้บริการของธนาคารจนต้องขยายสาขาจนครอบคลุมทั้งประเทศในปี 1979 และมีบริการเสริม เช่น สินเชื่อซื้อบ้าน เงินกู้เพื่อพัฒนาอาชีพ โครงการพลิกฟื้นชีวิตคนไร้บ้านกับขอทาน และอื่นๆ อีกมากมาย
นักรบผู้ต่อสู้กับความยากจน
สำหรับพนักงานของ Grameen เอง พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่เจ้าหน้าที่ธนาคารธรรมดาๆ เพราะทุกคนต้องผ่านการฝึกฝนสำหรับการเข้าหาลูกค้าในพื้นที่ทุรกันดานอันห่างไกล รวมไปถึงให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดด้านการเงินกับประชาชนที่ไม่มีพื้นฐาน สื่อหลายสำนักเรียกพวกเขาอย่างรักใคร่ว่า “ผู้ต่อสู้ความยากจน”
คนหนุ่มสาวเหล่านี้ต้องฝึกการทำงานตามแผนกต่างๆ ของธนาคารเป็นเวลาถึง 6 เดือน เพื่อให้เข้าใจความหมายของ “ความยากจน” ทุกรูปแบบอย่างถ่องแท้ ซึ่งบางครั้งไม่ได้หมายถึงแค่การไม่มีทรัพย์สิน เงินทอง แต่ยังครอบคลุมความหมายอื่นๆ อย่างเช่นโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การขาดแคลนกำลังสนับสนุน หรือขาดโอกาสทางการศึกษา
หลังจากพ้นด่านฝึกอันแสนทรหดแล้ว พวกเขาจะต้องกลับมารายงานตัวและผ่านการประเมินแบบรายตัวอีกครั้งที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งนั่นทำให้พนักงานเหล่านี้ จึงไม่ได้มีเพียงแค่ความรู้ความสามารถเท่านั้น เพราะธนาคาร Grameen ประกาศชัดเจนว่าพวกเขาต้องมีความปราถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความแร้นแค้นทุกรูปแบบ
สงครามที่ดูเหมือนจะไม่มีวันชนะ
หลังจากประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ จนสถานะของโครงการวิจัยเป็นอุปสรรคต่อความคล่องตัวในการทำธุรกรรมรูปแบบต่างๆ รัฐบาลบังกลาเทศจึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการประกาศกฤษฎีกาให้ธนาคาร Grameen กลายเป็นธนาคารอิสระในปี 1983 โดยได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากธนาคารกลางแห่งชาติ ทำให้สถานะของธนาคารมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น และได้รับความเชื่อมั่นจากทั่วโลก โดยมูลนิธิ Ford ของอเมริกา และสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลกให้ทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนางานวิจัย ทำให้ธนาคารสามารถปรับปรุงระบบของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
แนวคิด Microcredit ของธนาคาร Grameen ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการปล่อยเงินกู้จำนวนกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปแล้วจนถึงปัจจุบัน โดยมีอัตราการชำระหนี้ที่น่าประทับใจมาก ก็คือ 99.6% โดยมีสถิติที่น่าสนใจก็คือผู้กู้จำนวน 97% เป็นผู้หญิง ซึ่งก็น่าจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้ผู้หญิงได้ทำงานเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง และมีปากมีเสียงในการเรียกสิทธิที่เท่าเทียมมากยิ่งขึ้น
ฮีโร่ผู้ไร้ผ้าคลุม
ในปี 2011 รัฐบาลบังคลาเทศได้บังคับให้ดอกเตอร์ Yunus เกษียณ โดยอ้างว่าอายุ 72 ปีของเขาเกิดกำหนดตามกฏหมายให้ทำงานของรัฐ นอกจากนี้ในปี 2013 รัฐบาลบังคลาเทศยังได้ออกพระราชบัญญัติ ‘Grameen Bank Act’ เพื่อให้การดำเนินงานทุกอย่างของธนาคารอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ
ถึงแม้จะมีกระแสความไม่พอใจจากหลายฝ่าย โดยมองว่านี่เป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองและถือเป็นความไม่ยุติธรรมต่อบุรุษที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนประเทศด้วยมือของตัวเอง ดอกเตอร์ Yunus ก็ไม่ได้สนใจ ยังคงตั้ง Yunus Center ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยอิสระที่เน้นการให้ความรู้เรื่องการเงินและ Microcredit ต่อไป
สำหรับตัวเขาเองในวัย 77 ปีก็ยังต่อสู้อยู่ในสงครามที่ดูเหมือนจะไม่มีวันชนะ โดยยังบินไปทั่วโลกเพื่อเป็นวิทยากรให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาให้คนรุ่นใหม่ๆ ต่อไป ครั้งหนึ่ง เขาได้เล่าให้ชั้นเรียนที่ไปรับเชิญเป็นวิทยากรว่า เมื่อครั้งที่เขานำแนวคิดเรื่อง Microcredit ไปเสนอกับนายธนาคารต่างๆ เพื่อขอความเห็นและความช่วยเหลือ ได้มีนายธนาคารแห่งหนึ่งบอกเขาว่า “คุณ Yunus สิ่งที่คุณกำลังจะทำนี่มันทำให้ธุรกิจธนาคารกลับหัวกลับหางเสียหมดเลยนะ” ซึ่งก็เขาก็ยิ้ม และตอบกลับไปว่า “แน่นอน เพราะดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกคุณทำตอนนี้คือกำลังยืนด้วยหัวอยู่อย่างไรล่ะ”
ซึ่งนั่นก็น่าจะสรุปสิ่งที่ Muhammad Yunus และธนาคาร Grameen ทำตลอด 40 ปีได้เป็นอย่างดี