Money Hero: บรรยง พงษ์พานิช ต้นแบบนักบริหารสายการเงิน

ถ้าลองเอารายชื่อผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญๆ ในด้านต่างๆ ของประเทศไปถามเด็กวัยเรียนหรือหนุ่มสาวที่พึ่งเรียนจบ คงเป็นเรื่องปกติธรรมดาถ้าพวกเขาจะตอบได้ไม่ถึงครึ่งว่าแต่ละท่านนั้น เชี่ยวชาญในด้านใด หรือทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติบ้าง ซึ่งก็คงจะเป็นไปตามวัย แต่สำหรับผม เชื่อว่าคน Generetion Y ที่สนใจข่าวสารบ้านเมือง ติดตามความเป็นไปเศรษฐกิจและสังคม น่าจะคุ้นชื่อ “บรรยง พงษ์พานิช” แน่นอน เพราะหน้า Facebook (Banyong Pongpanich) ของเขานั้น มีผู้ติดตามหลายหมื่นคน และมีสาระดีๆ มาแบ่งบันอยู่เสมอ

อะไรทำให้อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน), กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งรู้จัก Facebook ในช่วงวัยเกษียณถึงมีผู้ติดตามระดับ “เน็ตไอดอล” และได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรตามงาน Event ของวัยรุ่นอยู่เสมอๆ แถมยังมีเหล่านักคิด นักเขียน ชวนไปให้สัมภาษณ์หรือบรรยายให้ความรู้อยู่บ่อยๆ มาศึกษาแนวความคิด “เน็ตไอดอล” นักบริหารสายการเงินตัวจริง ถึงประวัติความเป็นมา แนวคิด และหลักการในการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ กันหน่อยดีกว่าครับ

รูปภาพจาก : thaipublica.org

| ชีวิตคือการแข่งขัน

คุณบรรยง เป็นคนสนใจกีฬามาตั้งแต่เรียนมัธยมที่โรงเรียนวชิราวุธ เจ้าตัวจึงยอมรับว่าชอบการแข่งขันเป็นธรรมชาติและถึงแม้ในช่วงแรกหลังจากที่จบจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะยังไม่สนใจทำงานด้านการเงินเลย สุดท้าย สวรรค์ก็ยื่นโอกาสในรูปแบบของรุ่นพี่ที่กำลังหาคนมาทำงานเป็นเสมียนเคาะกระดานหุ้น โดยคุณสมบัติที่มองหาก็คือ “ร่างกายกำยำ ทนแรงเบียดแรงกระแทกได้ดี ถนัดการแก่งแย่งช่วงชิง และเจ้าเล่ห์ทันคน” ซึ่งคุณบรรยงก็ยอมรับอย่างอารมณ์ดีในหลายครั้งว่า นั่นถือเป็นคุณสมบัติของนักกีฬาที่ดีมากกว่านักการเงินที่เก่ง

เมื่อมีโอกาส คนเก่งอย่างเขาจึงไม่ปล่อยให้หลุดมือ และได้เริ่มทำงานเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหุ้นไทยในยุครุ่งเรือง ซึ่งถือเป็นยุคเฟื่องฟูยุคแรกๆ ของตลาดหุ้นที่พึ่งเริ่มต้น และเป็นธรรมดาของคนหนุ่มในยุคนั้น ที่คิดอยากเป็น  “เซียนหุ้น” ประเภทที่ว่ารู้เรื่องหุ้นทุกตัวอย่างแตกฉาน มองกลไกของตลาดได้ทะลุปรุโปร่ง วาจาสิทธิ์ พูดชี้ชวนตัวไหนก็ทำให้อยากซื้อตาม ทำให้ตอนนั้นลงทุนกับตลาดหุ้นไปมากมาย ซึ่งเจ้าตัวใช้คำว่า “พนันในหุ้น” มากกว่า มีเงินเท่าไหร่ก็ใส่หมดหน้าตัก แถมในสมัยนั้นเงินกู้และสินเชื่อต่างๆ กู้ได้ง่ายกว่าทุกวันนี้มาก

ช่วงแรกๆ หาเงินได้มาก ก็เลยใช้เงินอย่างไม่ได้วางแผน ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ซื้อรถสปอร์ต ไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ จนเกิดผลกระทบที่ตามมาตอนยุคฟองสบู่แตก

รูปภาพจาก : thaipublica.org

| เมื่อกำไรทั้งหมดเป็นแค่ภาพลวงตา

ฟู่ฟ่าอยู่ไม่ทันไรก็ถึงเวลาของความจริง เพราะทุกอย่างในตอนนั้นคือฟองสบู่ล้วนๆ แถมความจริงในครั้งนั้นยังกระแทกเขาเสียแรง ก่อนนั้นเคยมีเงินสดอยู่สองล้านบาท กลายเป็นเป็นหนี้ถึงหนึ่งล้านสี่แสนบาท เมื่อเจอปัญหาแบบนี้จึงทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าตลาดหุ้นนั้นไม่ใช่การพนัน การจะหวังเข้าไปรวยทางลัดจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

ดังนั้น เขาจึงเริ่มค้นคว้าหาความรู้ว่าตลาดเงินนั้นคืออะไร ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และมีกฏเกี่ยวกับการเรียนรู้ให้กับตัวเอง 3 ข้อ ซึ่งเป็นข้อคิดที่มีค่าผ่านจากประสบการณ์จริงที่น่าสนใจ เราขออนุญาติยกมาไว้ดังนี้

“คนที่รู้ตัวว่าโง่ เท่านั้น ถึงจะเรียน”

กฎข้อแรกเกี่ยวกับการเรียนรู้ของคุณบรรยงก็คือการบอกตัวเองเสมอๆ ว่า ตัวเองยังรู้ไม่พอ รู้น้อยเกินไป การทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วเช่นนี้จะทำให้เราไม่เกิดความประมาท ไม่ว่าจะลงทุนหรือทำธุรกิจใดๆ ก็จะเรียนรู้ให้ถึงที่สุด ปิดช่องโหว่และไม่ทำให้ประมาท คนที่คิดว่าตัวเองรู้ครบถ้วนและไม่พยายามจะแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น หรือปิดกั้นความคิดคนอื่นๆ เพราะคิดว่าตัวเองรู้ดีแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

“คนที่รู้ตัวว่าถ้าไม่เรียน จะไม่รอด จะเรียนหนักขึ้นสองเท่า”

กฏข้อที่สองอาจจะประยุกต์เข้ากับเรื่องหน้าที่การงานได้ดีที่สุด เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายของเรานั้นไกลเกินกว่าสติปัญญาหรือกำลังความสามารถตอนนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผลักดันตัวเองขวนขวายมากขึ้น เป็นการสร้างความกดดันให้ตัวเองพยายามให้มากขึ้นไปอีก ไม่พอใจอะไรง่ายๆ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีนั่นเอง

“เมื่อบังคับให้เรียน ทุกคนต้องได้โอกาสที่จะเรียนรู้”

นอกจากได้ประโยชน์กับตัวเองแล้ว กฏข้อนี้ยังช่วยให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ เพราะทุกๆ คนรอบตัวจะได้แลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล ถกเถียงกันเพื่อมองหาข้อสรุปที่ดีที่สุด ใครเก่งด้านไหนก็เอาความชำนาญเฉพาะตัวของตัวเองมาแบ่งปันกัน โดยเฉพาะการทำธุรกิจหรือการงาน ก็จะยิ่งช่วยให้ทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีการเก็บงำความลับหรือสร้างบรรยากาศที่ไม่สามารถไว้ใจได้ขึ้นมา ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทั้งตัวเอง องค์กร และสังคมเลย

เมื่อปัญหามา ปัญญาก็ต้องเกิด

เมื่อได้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้ตัวเองเต็มที่แล้ว แต่บางครั้งในความเป็นจริง เราก็ไม่สามารถที่จะเลี่ยงปัญหาได้ คุณบรรยงก็มีข้อคิดสำหรับการเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยเช่นกัน โดยเขามองว่าคนเรามีทางเลือก 3 ทาง เมื่อเจอปัญหา ก็คือ ทน แก้ หรือหนี ซึ่งเขามองว่าข้อแรก หรือ “ทนร่ำไป” นั้นไม่มีทางดีขึ้นมาได้เลยเพราะหมายถึงไม่มีความสามารถที่จะเปลี่ยนอะไรได้ ส่วนข้อที่สอง “หนีทุกที” ก็ไม่ดีสักเท่าไหร่ เพราะชีวิตกับปัญหาทั้งหลายเหมือนเป็นเรื่องคู่กัน ถ้าเลือกจะหนีก็ไม่รู้ว่าจะต้องหนีไปกี่พันกี่ร้อยครั้ง สำหรับข้อที่สาม “แก้อย่างเดียว” ก็เป็นความดันทุรังที่ไม่รู้ว่าจะสัมฤทธิ์ผลเมื่อไหร่

คุณบรรยงบอกว่า คนเราต้องประยุกต์ใช้ทั้ง 3 กลยุทธ์ คือ เริ่มต้นต้องแก้ก่อน ระหว่างแก้ต้องอดทน เพราะถึงแม้ทุกปัญหามีทางแก้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน เมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องตั้งขีดจำกัดไว้ว่า ถ้าเลือกจะดื้อดึงต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด การหนีจึงจำเป็นในตอนนี้นั่นเอง

banyong
รูปภาพจาก : waymagazine.org

| ผู้ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

นอกจากข้อคิดเกี่ยวกับการทำงานและการใช้ชีวิตแบบกวนๆ อย่างด้านบนแล้ว แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณบรรยงค์มีผู้ติดตามจำนวนมาก ก็คือความรู้ดีๆ น่าสนใจ ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือยากเกินความเข้าใจ แต่ใน Facebook ของคุณบรรยงจะเขียนเรื่องเหล่านี้ให้เข้าใจง่าย หยิบยกประเด็นมาแจกแจงอย่างละเอียด ด้วยภาษาทันสมัย ไม่มีศัพท์ยากๆ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ง่ายขึ้น

มีครั้งหนึ่งที่คุณบรรยงอธิบายแนวคิด “ทุนนิยม” ซึ่งถือเป็นยาขมสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ ถึงแม้จะได้ยินบ่อยๆ แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเขาได้อธิบายไว้ว่า พื้นฐานของระบบทุนนิยมคือใช้ตลาดเป็นกลไกในการรวบรวมจัดสรรทรัพยากร และติดตามดูแลทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงว่าระบบนี้จะดูแลทรัพยากรของประเทศให้ไปอยู่ในแหล่งที่มันจะเกิดเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ถ้าพูดถึงตลาดทุน ก็หมายความว่าเงินของนักลงทุน จะมุ่งไปสู่บริษัทที่มีประสิทธิภาพในการจัดการเงินทุนที่ได้มา ไม่ได้ไปกองอยู่กับบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปล่อยข่าวลวงหรือพยายามป่วนตลาด เพื่อปั่นราคาหุ้น ธนาคารก็เช่นกัน เวลาจะให้กู้ ก็ต้องเลือกเฉพาะธุรกิจที่มีรากฐานดี ไม่ใช่บริษัทลวงๆ ที่ตั้งขึ้นมาอย่างมีนัยแอบแฝง เป็นต้น เห็นไหมครับว่า หลักการและแนวคิดของเรื่องยากๆ อย่างทุนนิยม ก็กลายมาเป็นเรื่องง่ายและเข้าใจได้ทันที นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Facebook ของคุณบรรยง มีผู้ติดตามอย่างมากมาย ทั้งคนในและนอกวงการการเงิน

Facebook Comments