Money Hero: Alan Greenspan พ่อมดผู้อยู่เบื้องหลังการเงินระหว่างประเทศ

ถ้าให้ลองเดาว่าบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดของสหรัฐอเมริกาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นใคร หลายคนคงกำลังนึกถึงประธานาธิบดีแต่ละคนและเอกลักษณ์ของพวกเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความเด็ดขาดเหมือนนายทหารของบุชผู้พ่อ ความเป็นมิตร เข้าถึงได้ง่ายของคลินตัน หรือจะเป็นคาวบอยผู้แข็งแกร่ง ไม่กลัวใครของบุชคนลูก และลักษณะของผู้รู้กับน้ำเสียงชวนหลงไหลของโอบาม่า (และอะไรก็ตามที่ทรัมป์มี…) พวกเขาเหล่านี้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่และฉายาพ่วงมายาวเหยียด ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของโลกเสรี (ถึงแม้ตอนนี้จะดูไม่ค่อยใช่แล้วก็ตาม) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย

แต่นักรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ผู้เจนเวทีรู้ดีว่าอำนาจไม่ได้อยู่กับนักการเมืองที่มีท่าทีมั่นอกมั่นใจเหล่านั้นแต่ฝ่ายเดียวหรอก มีหลายคนที่กุมอำนาจไว้อย่างลับๆ ในเงามืด และอลัน กรีนสแปนคนนี้ก็คือหนึ่งในนั้น ผู้ชายตัวเล็กๆ เดินห่อไหล่แบบคนไม่มั่นใจในตัวเอง ใส่แว่นตาหนาเตอะเหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้คงแก่เรียน พูดเสียงเบาเหมือนกระซิบคนนี้นี่แหละ ที่ชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจโลกมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เขาเป็นใครนั้น เรามาดูกัน

จุดเริ่มต้นของความเป็นพ่อมด

คุณอาจจะคิดว่าถ้าทรงอำนาจมากมายขนาดนั้น คงจบจากไอวี่ลีกเป็นแน่แท้ ถูกครึ่งและผิดครึ่ง กรีนสแปนจบปริญญาตรีและโทจากทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ในปี 1950 และเขาได้สิทธิ์เรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ในระดับปริญญาเอกด้วย แต่เพราะเงินไม่พอ จึงต้องพักการเรียนไปทำงานที่ National Industrial Conference Board ซึ่งที่นี่เอกที่เขาได้พบปะกับผู้คนแวดวงการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย และได้เรียนรู้มามากมาย จนสามารถเรียนต่อจนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ในที่สุด

รูปภาพจาก www.thenation.com

ตอนที่ยังเรียนอยู่นั้น ขณะที่เพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนกำลังขมักเขม้นกับตำราการเงินและสูตรตัวเลขมากมาย กรีนสแปนกลับขลุกตัวอยู่ในห้องสมุด เพราะเคยมีผู้หญิงคนหนึ่งเคยกล่าวกับเขาไว้ว่า ถ้าจะวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง ต้องศึกษาวรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคม จะใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งได้กลายเป็นจุดสำคัญในอาชีพของกรีนสแปนในเวลาต่อมา โดยเขายืนยันว่า สิ่งละอันพันละน้อยในอดีตนี่แหละ ที่หล่อหลอมความคิดของปัจเจกชนให้ออกมาเป็นคนๆ นั้น ถ้าหากไม่เข้าใจอดีตที่ผ่านมา ก็จะไม่สามารถคาดการณ์อนาคต ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์ทุกคน

อิทธิพลที่เริ่มแผ่ขยาย

เขาเริ่มงานเป็นนักวิเคราะห์ในปี 1948 ให้กับ The Conference Board ซึ่งเป็นคณะทำงานไม่แสวงผลกำไรเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และทำจนถึง 1953 ก่อนมาเป็น Chairman และ President ของบริษัท Townsend-Greenspan ซึ่งให้บริการและคำปรึกษาด้านเศรษฐกิจในนิวยอร์ก ซึ่งเขาร่วมมือกับวิลเลียม ทาวน์เซนด์ (William Townsend) นักค้าหุ้นก่อตั้งขึ้นในปี 1955

รูปภาพจาก telegraph.co.uk

การเปิดบริษัทให้กับตัวเองทำให้เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเต็มที่ และบ่มเพาะอยู่เป็นสิบปีจึงฉายแสง เริ่มได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจและนักการเมือง เส้นทางสู่ธนาคารแห่งชาติของกรีน สแปน เริ่มขึ้นตอนบ่ายวันหนึ่งของปี 1966 เมื่อ เขาได้พบกับเลนเนิร์ด การ์เมนต์ (Leonard Garment) อดีตผู้จัดการวงดนตรีแจ๊ซที่เขาเคยร่วมเล่น การ์เมนต์เป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) และเขาแนะนำให้กรีนสแปนรู้จักกับนิกสัน หลังจากนั้น กรีนสแปนก็ได้เข้าเป็นผู้ประสานงานด้านนโยบายการเงินภายในประเทศของนิกสันในปี 1968 และในปี 1974 นิกสันก็เตรียมที่จะตั้งกรีนสแปนให้เป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องมาลาออกไปเสียก่อน เพียง 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการยืนยันการแต่งตั้งกรีนสแปนในตำแหน่งดังกล่าว แต่เมื่อประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) เข้ารับตำแหน่ง นอกจากจะไม่ถอนชื่อกรีนสแปนออกไปจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ทั้งสองยังได้พูดคุยกันจนสนิทชิดเชื้อกันอีกต่างหาก ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ระหว่างสมัยของประธานาธิบดีฟอร์ด (1974 – 1977)

พอมาถึงยุคของจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) เป็นประธานาธิบดี กรีนสแปนกลับไปประจำที่ Townsend-Greenspan เช่นเคย แต่พอถึงยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เขาก็กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานของคณะกรรมาธิการแห่งชาติ ทางด้านปฏิรูปการประกันสังคม จากนั้น ประธานาธิบดีเรแกนก็แต่งตั้งให้กรีนสแปนเป็นประธานคณะผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ และเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George Bush) มาจนถึงสมัยของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน (Bill Clinton) และสิ้นสุดในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) เรียกว่าอยู่ยงคงกระพันสุดๆ

มนตราของพ่อมด

ต่อให้มีคอนเนคชั่นดีๆ สักแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีฝีมือของตัวเองด้วยก็คงไปได้ไม่ไกล แต่คำนี้คงใช้อธิบายกรีนสแปนไม่ได้ พ่อมดผู้กุมชะตาการเงินของโลกไว้เกือบ 30 ปี นั้น คงจะไม่อยู่ยืนยง ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายต่อหลายสมัย ถ้าเขาไม่เคยร่ายมนต์อะไรเอาไว้ให้เลย

ในตอนที่คลินตันพึ่งได้รับตำแหน่ง กรีนสแปนรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางมาแล้ว 6 ปี ได้เข้ามาบอกประธานาธิบดีที่อยู่ในห้องทำงานรูปไข่ได้ 8 วัน ว่าถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่แก้ปัญหางบประมาณขาดดุลอย่างจริงจังแล้วล่ะก็ ประเทศของเราจะต้องเผชิญหน้ากับหายนะทางการเงินอย่างใหญ่หลวงในอีก 4 ปีข้างหน้า

รูปภาพจาก businessinsider.com

เขาไม่ได้มาพูดเปล่าๆ เขามาพร้อมแผนที่เสนอให้คลินตันลดงบประมาณขาดดุลลงอย่างน้อย 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระยะเวลาสี่ปีข้างหน้า เพื่อกดดันให้อัตราดอกเบี้ยลดลง ตลอดช่วง แปดปีที่อยู่ในตําแหน่ง ด้วยทีมเศรษฐกิจชั้นเยี่ยม เป็นผลทําให้ประธานาธิบดีคลินตันสามารถทําให้งบประมาณของรัฐบาลที่ขาดดุล กลับมาเกินดุลได้ในเดือนกันยายน ปี 1999 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว

กรีนสแปนเป็นผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจของโลกก็ว่าได้ ด้วยอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Federal Funds Rate) ซึ่งได้แก่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนระหว่างธนาคารของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Federal Open Market Committee ( FOMC) โดยมีกรีนสแปน เป็นประธาน กรีนสแปนมีกลยุทธต่างๆ นานาที่โน้มน้าวให้กรรมการ 12 คน ลงมติเปลี่ยนแปลง Federal Funds Rate ตามที่ตนเสนอ และมีอยู่บ่อยครั้งที่มีมติเป็นเอกฉันท์

รูปภาพจาก amazonaws.com

การที่กรีนสแปนมีอิทธิพลในการกําหนด Federal Funds Rate ถือได้ว่ากรีนสแปนได้ช่วยให้เศรษฐกิจโลกไม่ล้มครืนลงจากเชื้อโรคต้มยํากุ้งที่เกิดจากบ้านเราในเดือนกรกฎาคม ปี 1997 จากนั้นก็ไปยังประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และลามไปถึงฮ่องกง จีน กระทบตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในที่สุด การตกตํ่าของดัชนีฮั่งเส็ง ในวันที่ 26 ตุลาคม ปี 1997 ทําให้วันรุ่งขึ้น ดัชนีดาวน์โจนส์ร่วงไป 550 จุด หรือลดลง 7 % เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของกรีนสแปนได้ลด Federal Funds Rate ลงอย่างต่อเนื่องถึงสามครั้งติดต่อกันภายในปลายปีนั้น และได้ทำให้สหรัฐฯ เอาตัวรอดจากวิกฤตนี้ได้อย่างฉิวเฉียด

ถึงแม้ว่าตอนี้อลัน กรีนสแปนจะวางมือจากตำแหน่งผู้ว่าธนาคารกลางและอายุมากจนไม่ค่อยได้ปรากฏตัวสักเท่าไหร่ แต่เขาก็ยังแสดงความคิดเห็นอยู่เสมอๆ เมื่อเกิดวิกฤตการเงินใหญ่ๆ ในโลก และแน่นอนว่าเมื่อใดก็ตามที่กรีนสแปนพูด ทุกคนต้องเงี่ยหูฟัง เคยมีคนกล่าวไว้ว่าโลกแขวนอยู่กับคําพูดของกรีนสแปนทุกถ้อยคํา” (The World hangs on his every word)

Facebook Comments
SHARE
Bearye
นักรัฐศาสตร์ผู้สนใจเศรษฐศาสตร์มหภาค เศรษฐกิจสังคมนิยม การลงทุนแบบมีธรรมมาภิบาล เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า "เงินเป็นลูกน้องที่ซื่อสัตย์ แต่เป็นเจ้านายที่เลวร้าย"