ในปัจจุบันถึงเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ดีมากนัก แต่อย่างน้อยก็ยังพอมีลู่ทางหากินกันได้บ้าง ถ้าใครทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ ก็ยังกินเงินเดือนได้เรื่อยๆ ส่วนคนทำมาค้าขายถึงจะขัดสนบ้าง แต่ก็ยังถือว่าดิ้นรนกันได้อยู่
แต่สำหรับหลายคนที่เคยผ่ายวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วและฟื้นตัวกลับมาได้ คนกลุ่มนี้จะมีภูมิต้านทานสูงกว่าคนในยุคใหม่ ที่ยังไม่เคยเจอวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ๆ
ยังจำได้กันไหมครั้งหนึ่ง ประเทศเราเคยเกือบจะล้มละลายกันทั้งประเทศเพราะวิกฤติขนาดใหญ่ที่มีชื่ออย่างทางการว่า วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือที่เรียกรู้จักกันทั่วไปว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (Tom Yum Kung Crisis) มาดูไทม์ไลน์กันชัดๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในตอนนั้น เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อนำมาปรับใช้กับตัวเอง หากจะเกิดวิกฤติอีกครั้งต้องรับมืออย่างไร?
พุทธศักราช 2537 (ค.ศ. 1994) – ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวย
ในปี 2537 ประเทศไทยมีการเติบโตของ GDP ที่สูงมาอย่างต่อเนื่อง (มากกว่า 8% ติดกันถึง 5 ปี คือ พ.ศ. 2534-2538) ประกอบกับปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนต่างๆ ทำให้เราถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ในสมัยนั้นถ้าเราเอาเงินของเราไปฝากธนาคารจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำถึง 8.25 – 10.25% เลยทีเดียว
พุทธศักราช 2538 (ค.ศ. 1995) – ฟองสบู่กำลังเบ่งบานได้ที่
พอปี 2538 ประเทศเราก็ยังดึงดูดประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้ระดับของ GDP ของไทยก็ยังอยู่ในระดับที่สูงมากๆ เศรษฐกิจดี เงินก็สะพัด ขณะที่รัฐบาลก็สามารถสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้ถึง 179,500 ล้านบาท (ซึ่งเป็นช่วงที่มากที่สุด) ในตอนนั้น อัตราเงินเฟ้อของประเทศเราคือ 5.8% ซึ่งก็นับว่าค่อนข้างสูง แล้วจะเอาอะไรไปลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อ แต่เปล่าเลยครับถ้าเราเอาเงินไปฝากธนาคารก็จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำมากถึง 10.25% หรือหากฝากนานหน่อย (24 เดือน) ก็จะได้มากถึง 12.50% นั่นหมายความว่า ถ้าเราเอาเงินไปฝากซัก 100,000 บาท อีกสองปีเราจะได้เงินมาอีก 12,500 บาท สบายๆ โดยแทบไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย ในขณะที่มูลค่าเงินอาจจะลดลงบ้างที่ 5,800 บาทต่อปีเท่านั้นเอง
พอถึงตรงนี้ เราอาจจะต้องมาวิเคราะห์กันสักนิดว่า ทำไมธนาคารถึงได้ใจดีเหลือเกิน ให้ดอกเบี้ยเยอะแยะขนาดนั้น จุดที่สังเกตได้ชัดก็คือ ถ้าเราเป็นธนาคารเราก็จะได้เงินจากการปล่อยกู้ ดังนั้นถ้าดอกเบี้ยเงินฝากมันสูง ดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะอยู่ในระดับเดียวกัน แล้วที่นี้ธนาคารของประเทศอื่นๆ เนี่ย เขาปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้กันแค่ 2-3% ธนาคารพาณิชย์ในบ้านเราก็เลยไปกู้ธนาคารต่างประเทศในระดับดอกเบี้ยแค่นั้นมาให้เรากู้และปล่อยดอกเบี้ยได้แพงๆ พอถึงตรงนี้เราก็สงสัยอีกว่าทำไมคนถึงอยากกู้ล่ะ ในเมื่อดอกเบี้ยแพงก็เพราะตอนนั้นเงินมันสะพัดมาก ใครที่อยากเป็นเจ้าของกิจการก็สามารถทำได้ การปล่อยกู้ก็ทำได้ง่ายด้วยบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดีในสมัยนั้น หรือ แม้กระทั่งผู้กู้ก็ไปกู้กับสถาบันการเงินต่างประเทศเองเลย
พุทธศักราช 2539 (ค.ศ. 1996) – เริ่มได้กลิ่นไม่ค่อยดี
ในปีนี้อัตราเงินเฟ้อเราเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยที่ 5.9% และดอกเบี้ยเงินฝากลดลงมานิดนึงที่ 8.5-9.75% ด้วยนโยบายของรัฐที่อยากคุมความร้อนแรงและรักษาค่าของเงินบาทเอาไว้ ในช่วงนั้น รัฐบาลเราพยายามตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไว้ที่แถว 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าเราอยู่ในช่วงนั้น เราก็คงจะฝากเงินกับธนาคารอยู่ดี เพราะแค่ฝากเงินก็ชนะเงินเฟ้อแล้ว เอาเวลามานั่งหาซื้อทัวร์พาพ่อแม่ไปเที่ยวดีกว่า จะเห็นได้ว่าการกำหนดนโยบายทางการเงินส่งผลอย่างมากต่อวิกฤตเศรษฐกิจโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลานั้น ตัดสินใจใช้แนวทางการตรึงค่าเงินบาทไว้ไม่ปล่อยให้ผันผวนตามตลาด เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเอาไว้ ทั้งๆ ที่ตามทฤษฏี การปล่อยเสรีทางการค้าควรทำพร้อมๆ กับเสรีทางอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ถ้าประเทศไทยในเวลานั้นเศรษฐกิจดี คนต่างชาติก็จะอยากเข้ามาลงทุน ซึ่งก็ต้องซื้อเงินบาทไป พอคนแย่งกันซื้อมากๆ จากที่ 1 ดอลลาร์ได้ 25 บาทแล้ว ก็จะต้องแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเทศไทยพยายามต่อสู้กับกลไกเหล่านี้ด้วยการเอาเงินสำรองระหว่างประเทศมาซื้อเงินดอลลาร์หรือเงินบาทกลับในปริมาณเท่าๆ กัน เพื่อให้ความผันผวนไม่มากจนเกินไปนัก ในทางกลับกัน หากมีคนมาแลกเงินบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐมากๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องเอาเงินดอลลาร์สหรัฐไปแลก แลกไปเรื่อยๆ จนต้องเอาเงินสำรองระหว่างประเทศมาให้แลก เป็นต้น
พุทธศักราช 2540 (ค.ศ. 1997) – ฟองสบู่แตก จุดจบของเสือตัวที่ห้า
หลังจากที่พยายามยื้อมาเกือบครึ่งปี จากที่มีโจมตีค่าเงินบาทมาเรื่อยๆ จนกระทั่งสู้ไม่ไหวในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 โดยรัฐบาลได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงจาก 25 บาท เป็น 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในทันที และทำสถิติอ่อนตัวต่ำสุดที่ระดับ 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นั่นทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในทันที GDP กระโดดลงมาสู่ต่ำสุดจากร้อยละ 2.6 ในปี 2540 เป็นร้อยละ -2.2 ในปี 2541 หุ้นตกชนิดที่เรียกว่ากระเด็นตกดอยจาก 1,410.33 จุด ในเดือนมกราคม 2539 เหลือเพียง 207 จุดในเดือนกันยายน 2541 ตีเป็นเลขกลมๆ ว่ามูลค่าสูญหายไปกว่า 3 ล้านล้านบาท
“สถาบันการเงินที่มีปัญหาสภาพคล่องกว่า 58 แห่ง ถูกสั่งระงับการดำเนินชั่วคราวจนในที่สุดต้องปิดกิจการไปทั้งสิ้น 56 แห่งในปี 2540 และอีก 11 แห่งในปี 2541″
วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทั้งจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจนกระทบกับสินค้าอุปโภค บริโภคอื่นๆ ภาคการเงินการธนาคารที่ต้องให้รัฐเข้ามาช่วยอุ้ม และหนี้ของรัฐบาลไทยที่มีต่อรัฐบาลต่างชาติ ที่มีสูงถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังใช้กันไม่หมด
คนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง”
ตอนที่เกิด “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นนั้น ผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะยังไม่ได้อยู่ในวัยทำงาน และอาจจะรับรู้ถึงผลกระทบได้น้อยหรือถ้าได้รับผลกระทบ ก็คงจะกระทบกับคนรุ่นพ่อแม่เสียมากกว่า แต่ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรนำไปเป็นบทเรียน และควรอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้จากมัน ต่อให้เราไม่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องก็ตาม เราจึงชวนคุณมาวิเคราะห์ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและจะทำอย่างไรหากเกิดขึ้นในยุคนี้
ในมุมมองของเราไม่ได้จะบอกว่าวิกฤติแบบเดิมจะเกิดขึ้นอีกในปัจจุบัน แต่ก็ไม่แน่!! ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างทำงานกันอย่างหนักเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาสินเชื่อที่ออกง่ายเกินไปและการลงทุนที่เกินตัวนั้นเกิดขึ้นซ้ำได้อีก เพราะคำว่าวิกฤติก็คือวิกฤติ เราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่? (ถ้าไปบอกคนยุคนั้นว่าธนาคารเป็นร้อยแห่งจะเจ๊งเขาก็คงหาว่าคุณบ้าเช่นกัน)
ข้อแรก| คือเราควรที่จะระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายต่างๆ ของตัวเองและครอบครัว และมีการจัดพอร์ตการลงทุนให้สามารถสู้กับทุกสถาณการณ์ได้ โดยไม่ใช่แค่ลงทุนเพื่อหวังผลกำไรอย่างเดียว ต้องมีเงินสดสำรองไว้อย่างเหมาะสม
ข้อที่สอง| ก็คือต้องติดตามข่าวสารและหาความรู้อยู่เสมอ ยิ่งการลงทุนในปัจจุบันที่จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ อย่าง หุ้น กองทุน หรือพันธบัตร แต่เริ่มมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเช่น BitCoin เหรียญต่างๆ ซึ่งจะต้องอาศัยความเข้าใจอย่างมาก เราก็ยิ่งต้องตามติดเพื่อรู้ให้ทัน
ข้อสุดท้าย| ต้องฝึกวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อจะได้รู้เท่าทัน เพราะการเกิดวิกฤติในตอนนั้นเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นแทบจะเรียกได้ว่าฉับพลัน ถึงผู้เชี่ยวชาญจะเริ่มเดาทางออกก็มีเวลาแค่ไม่กี่เดือน แต่สำหรับในยุคนี้ มีข้อมูลบ่งชี้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะกินเวลานาน อาจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งเคยบอกไว้ว่าถ้าหากยุคนั้นเป็น “ต้มยำกุ้ง” ที่ใช้น้ำเดือดจัดและต้มเพียงไม่นานก็สุก แต่ในยุคของเราก็อาจจะเป็น “ต้มกบ” ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล
และด้วยสังคมยุค Digital Transformation มีความรวดเร็วของข้อมูลสูง อาจทำให้ขาดความระมัดระวังที่ดีได้
Reference :
https://thaipublica.org/2017/06/don-bot-21-6-2560
https://waymagazine.org/20-yrs-tyk-crisis_1
Photo credits:
https://brandinside.asia
https://youtube.com
https://stock2morrow.com