ทุกวันนี้ ถ้าใครยังไม่รู้จัก Netflix ก็ต้องเรียกว่าเชยเหลือเกิน เพราะบริการ Streaming Media ผ่านทาง Internet เจ้านี้เรียกได้ว่ากำลังครองโลกเลยด้วยซ้ำ ค่าที่มันเปลี่ยนวิถีชีวิตในการเสพสื่อของคนทั่วโลกไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากจะเอาหนังและซีรี่ส์ชื่อดังจากช่องต่างๆ มาให้บริการ Netflix ยังพัฒนาขึ้นด้วยการผลิตซีรี่ส์ของตัวเองขึ้นมาอีกด้วย และต้องบอกว่าหลายๆ เรื่องก็ทำได้ดีมากๆ จนติดกันงอมแงมทั้งบ้านทั้งเมือง เกิดนิสัยการติดซีรี่ส์ที่เรียกกันว่า Binge Watching หรือดูติดต่อกันทั้งวันทั้งคืน จนกลายเป็นศัพท์ประจำปีของ Collins English Dictionary กันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการดูซีรี่ส์ของคนส่วนใหญ่มักจะเป็นซีรี่ส์ที่เน้นให้ความบันเทิงเป็นหลัก Netflix เองก็รายการและสารคดีที่มีเนื้อหาเข้มข้น ให้ความรู้ไม่น้อยเช่นกัน วันนี้เราเลยจะให้คุณพักจากการตัดเหลี่ยมเฉือนคมของ Casa Del La Papel หรือภาพโลกอนาคตอันแสนมหัศจรรย์ใน Altered Carbon มาลองดูสารคดีน้ำดีที่เป็นประโยชน์กับการทำงานและพัฒนาการใช้ชีวิตของคุณบ้างก็ได้

1. Queer Eye พัฒนาตัวเองได้ด้วยทัศนคติ
Queer Eye เป็นรายการเรียลลิตี้ชื่อดังที่เคยเป็นรายการฮิตติดลมบน เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว คราวนี้ Netflix กลับมาทำใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทของยุคสมัย ตัวรายการยังยึดรูปแบบเดิม นั่นก็คือการนำเอาเกย์ 5 คน หรือที่เรียกกันว่า The Fab Five มาให้คำแนะนำและแต่งองค์ทรงเครื่องผู้ชายแท้ๆ ที่มีปัญหากับชีวิต ความสนุกของรายการไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัวใหม่ๆ หรือแนะนำให้ผู้ชายแท้ให้รู้จักกับดูแลตัวเองมากขึ้นเท่านั้น (ซึ่งคนที่ถูกส่งมาเข้าร่วมรายการส่วนใหญ่ก็จะลงล็อคประเภท ผู้ช้าย ผู้ชาย ชีวิตไม่เคยดูแลตัวเองนอกจากล้างหน้าด้วยสบู่ หรือไม่ก็ขาดทักษะการเข้าสังคมอย่างน่าใจหาย)
แต่ยังรวมไปถึงการที่เหล่า The Fab Five จะช่วยให้เขาเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ตั้งแต่เรื่องพื้นๆ เช่น การงาน ครอบครัว การเข้าสังคม ไปจนถึงเรื่องราวในจิตใจที่ซับซ้อน และในบางคนก็ถือเป็นปมส่วนตัว เช่น ความรัก การรู้จักตัวเองและสิ่งที่ชอบ การให้ความเคารพตัวเอง แน่นอนว่าการใช้เกย์มาเป็นคนดำเนินเรื่อง ถือเป็นการทำลายกำแพงให้กับเหล่าชายแท้ (เกินไป) ทั้งหลายให้รู้จักกับวิถีชีวิตและความเป็นไปของโลกยุคใหม่มากขึ้นอีกด้วย (แน่นอนว่ารสนิยมด้านการแต่งตัวหรือการทำอาหารของ The Fab Five ก็เลิศเอามากๆ)
2. Ugly Delicious ความไม่สมบูรณ์แบบที่แสนอร่อย
ซีรี่ส์นี้เป็นผลงานของ David Chang เชฟหน้าตี๋ที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่ความตรงในคำพูดและการวิจารณ์อาหารแบบถึงพริกถึงขิง เจ้าของร้านอาหารชื่อดัง Momofuku ในนิวยอร์ค ซิตี้ โดยในรายการนี้ ชางจะออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเจาะลึกถึงอาหารหน้าตาธรรมดาๆ ที่แสนจะอร่อย (ที่มาของชื่อรายการ) โดยที่ความสนุกของรายการนี้ไม่ได้อยู่ที่การพาไปชิมธรรมดาๆ เท่านั้น เพราะชางจะไปพร้อมๆ กับเหล่าคนดังที่แต่ละคนก็มีเรื่องความผูกพันธ์ของอาหารจานนั้นๆ ในแบบของตัวเอง และชางยังได้ออกตามรอยว่ากว่าที่อาหารจานหนึ่งจะออกมาได้นั้น พวกมันได้ประทับความทรงจำให้กับผู้คนอย่างไร และเดินทางผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะมาเป็นอาหารจานโปรดได้ในทุกวันนี้
ซึ่งเรื่องราวเบื้องหลังนั้นก็มีทั้งโลดโผนโจนทะยาน หรือเข้มข้นดราม่าเรียกน้ำตา ดูรายการนี้รายการเดียว นอกจากจะได้ความรู้เรื่องอาหารแล้วยังมีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมแถมมาอีกด้วย เกิดไอเดียสดใหม่เอาไปต่อยอดได้มากมายอย่างแน่นอน

3. Dirty Money รู้เท่า (ให้) ถึงการณ์
Alex Gibney ผู้กำกับผู้สร้างชื่อเสียงจากการทำสารคดีแบบ Gonzo โดยโด่งดังมาจากสารคดี Taxi to the Dark Side ซึ่งเป็นเรื่องราวของแท็กซี่ชาวอัฟกานิสถานที่ถูกฆ่าตายอย่างไม่เป็นธรรมโดยทหารสหรัฐฯ ซึ่งผลงานในครั้งนั้นก็ส่งให้เขาได้รับรางวัล Oscar สารคดียอดเยี่ยมในปี 2007 ไปครอง โดยคราวนี้ขึ้นแท่นผู้อำนวยการสร้างเอง Dirty Money เป็นสารคดีที่พาเราไปขุดคุ้ยเรื่องราวอื้อฉาวของวงการธุรกิจระดับโลก
แต่ถ้าจะให้มานั่งเล่าให้ฟังเหมือนรายงานข่าวทั่วไปก็คงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ละตอนจึงมีการเอาภาพเหตุการณ์จริงสลับกับบทสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงตัวผู้กระทำผิดในบางครั้ง การเล่าเรื่องในสไตล์ที่ค่อยๆ ปล่อยให้ผู้ชมเผชิญหน้ากับความจริงทีละน้อย ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนกำลังดูซีรี่ส์แนวสืบสวนสอบชั้นดีมากกว่าจะเป็นสารคดีน่าเบื่อ นอกจากนี้ในแต่ละตอนยังสอดแทรกความรู้และข้อสังเกตสำหรับคนธรรมดาที่เอาไว้สอดส่องผู้มีอำนาจหรือกลุ่มทุนเงินหนา เพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นมาเอาเปรียบกันได้ง่ายๆ

4. Abstract: The Art of Design สุนทรีย์ในความงามของการออกแบบ
สารคดีเรื่องนี้น่าจะถูกใจนักดีไซน์และคนที่ชื่นชอบงานออกแบบสวยๆ เพราะจะพาไปเจอกับดีไซน์เนอร์และสถาปนิกระดับโลกพร้อมกันผลงานของพวกเขา ซึ่งนอกจากเราจะได้ดูเบื้องหลังผลงานที่ทำให้โด่งดังแล้ว สารคดีนี้ยังพาเราไปไกลกว่านั้นด้วยการลงลึกไปถึงแนวคิดและปรัชญาการทำงานของเหล่าศิลปินระดับปรมาจารย์ ทำให้นอกจากได้ศึกษาผลงานของคนเก่งๆ เหล่านี้ เรายังได้เรียนรู้แนวคิดที่เขามีและอาจจะเข้าใจมุมมองที่เขามีต่อโลกมายิ่งขึ้น เหล่าศิลปินที่ประสบความสำเร็จหลายคน ก็อาจจะไม่ได้เก่งเรื่องการวาดรูปหรือการออกแบบมากมายอะไรนัก เพราะสิ่งที่สารคดีนี้บอกเราเราอย่างชัดเจนก็คือมันขึ้นอยู่กับมุมมองที่เรามีต่อโลกและความเข้าใจของเราที่มีต่อภาษาของการออกแบบต่างหากที่สำคัญ
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะบอกก็คือสารคดีพวกนี้มักเป็นตอนสั้นๆ ส่วนใหญ่ก็จบในตอนไม่ได้ต่อเนื่อง เสียเวลาพักจากซีรี่ส์สุดโปรดของคุณ แค่ 2-3 ชั่วโมงเพื่อหาตอนที่น่าจะเหมาะกับสายงานของคุณ หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณกำลังทำ หรือสนใจ เชื่อว่าน่าจะจุดประกายไฟในตัวคุณเพื่อนำไปพัฒนาตัวเองและการทำงานได้อย่างมากมายแน่นอน