“สุขภาพการเงิน” (Money Fitness) หมายถึง การมีสภาวะทางการเงินที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิต เพียงพอ และเป็นพื้นฐานสู่ความมั่งคั่งได้ หรือพูดง่ายๆ คือ นอกจากจะสามารถดำรงชีวิตได้แล้ว ยังเป็นรากฐานความมั่นคงทางการเงินในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นแล้ว สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องดูแลรักษาให้ดี ไม่แตกต่างจากสุขภาพของร่างกายและจิตใจเลยก็ว่าได้
แน่นอน เมื่อมีสุขภาพที่ดี ก็ต้องมีสุขภาพที่แย่เช่นเดียวกัน ประเด็นสำคัญคือตอนนี้เรารู้แล้วหรือยังว่าเราแข็งแรงหรือกำลังป่วยทางการเงินอยู่? เมื่อเป็นดังนี้แล้ว การตรวจสุขภาพที่ทำให้เรารู้, เข้าใจโรคที่กำลังเป็นอยู่ เพื่อหาทางรักษาให้หายเป็นแบบใด การตรวจสุขภาพทางการเงิน เพื่อรู้และหาทางแก้ปัญหาทางการเงิน ก็จะทำให้เราสร้างความมั่นคงในชีวิตในอนาคตได้ในแบบเดียวกัน
วันนี้เราจะมาตรวจสุขภาพการเงินของคุณ มาดูกันว่าตอนนี้คุณสุขภาพดีหรือกำลังป่วยทางการเงินอยู่ไปพร้อมๆ กันเลยครับ
1. เรามีทรัพย์สมบัติอะไรอยู่บ้าง?
เปรียบเสมือนการประเมินสุขภาพโดยรวมของร่างกาย โดยการประเมินความมั่งคั่งสุทธินั้นจะบอกว่าเรามีพื้นฐานทางการเงินดีมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับ “ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมี” โดยเราสามารถคำนวณได้ดังนี้
สินทรัพย์ – หนี้สิน = ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน
ทั้งนี้ เราจะต้องจำแนกออกมาให้ชัดเจนก่อนว่า สินทรัพย์ และ หนี้สิน ของตัวเองนั้นมีอะไรบ้าง และมีประเภทไหนกันบ้างดังนี้ครับ
สินทรัพย์
1. สินทรัพย์สภาพคล่อง ได้แก่ เงินสด และ บัญชีออมทรัพย์ หรือเป็นเงินที่เรานำมาหมุนเวียนใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ง่ายที่สุดนั่นเอง
2. สินทรัพย์เพื่อการลงทุน ได้แก่ เงินฝากประจำ สลากออมทรัพย์ มูลค่าหุ้นโดยรวม หรืออื่นๆ
ซึ่งเป็นเงินที่เราใช้จ่ายไปกับการลงทุนทั้งหมดนั่นเอง
3. สินทรัพย์ส่วนตัว ได้แก่ บ้าน รถยนต์ ของมีค่าต่างๆ
หรือก็คือเป็นทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่า สามารถนำไปขายต่อได้นั่นเอง
หนี้สิน
1. หนี้สินระยะสั้น ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนสินค้า หนี้บัตรเงินสดอื่นๆ ซึ่งมีอายุไม่เกิน 1 ปี
2. หนี้สินระยะยาว ได้แก่ หนี้เงินกู้บ้าน หนี้เงินผ่อนรถยนต์ ซึ่งมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
เช่น เมื่อรวมสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดแล้วของนาย A
= สินทรัพย์ 10,000,000 บาท หนี้สิน 5,000,000 บาท
ความมั่งคั่งสุทธิปัจจุบัน = 10,000,000 – 5,000,000 = 5,000,000 บาท
เมื่อได้ความมั่งคั่งสุทธิปัจจุบันแล้ว ให้นำมาเปรียบเทียบกับ “ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมี” โดยการคำนวณดังนี้
“ทรัพย์สินที่ควรมี” สามารถคำนวณได้ดังนี้
อายุ x รายได้ต่อปี x 10%
เช่น จากตัวอย่าง นาย A มีอายุ 30 ปี มีเงินเดือน 50,000 บาท (x 12 = 600,000 บาทต่อปี)
ความมั่งคั่งสุทธิที่นาย A ควรมี = 30 x 600,000 x 10/100 = 1,800,000 บาท
จากความมั่งคั่งสุทธิปัจจุบัน เทียบกับ ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมี (5,000,000 : 1,800,000)
หมายความนาย A มีความมั่งคั่งสุทธิ มากกว่า ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมี
ดังนั้นจึงถือว่านาย A มีสุขภาพการเงินโดยรวมแข็งแรงนั่นเอง
2. มีหนี้ต่อเดือน มากเกินไปอยู่หรือไม่?
หนี้สินเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในปัจจุบัน ก็เหมือนกับไข้หวัดหรือโรคเจ็บป่วยเล็กน้อย ที่เราทุกคนต่างก็เป็นๆ หายๆ กันในแต่ละเดือน ถ้ามีน้อยก็ไม่ส่งผลต่อชีวิต ถ้ามีมากก็จะทำให้ชีวิตเริ่มลำบาก แต่ถ้าไม่มีเลยก็ถือว่าดีเยี่ยม โดยสามารถคำนวณง่ายๆ ได้ดังนี้
ภาระหนี้สินต่อเดือน = รายได้ต่อเดือน x ⅓
หรือก็คือห้ามมีเกินกว่า ⅓ ของรายได้ต่อเดือนนั่นเอง เช่น หากนาย A มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน ภาระหนี้สินต่อเดือนที่เขาห้ามมีเกินกว่านั้นคือ ประมาณ 16,666 บาทนั่นเอง ซึ่งถ้าหากมีมากกว่านั้น ก็จะต้องเพิ่มรายได้ หรือ ลดค่าใช้จ่ายลงนั่นเอง
3. มีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน เพียงพอหรือยัง?
เงินออมฉุกเฉินเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เมื่อเราเกิดอุบัติเหตุ ล้มป่วย หรือตกงาน ถ้าไม่ได้เตรียมเงินไว้อย่างเพียงพอ ก็จะเกิดความลำบากขึ้นได้ โดยจำนวนเงินออมฉุกเฉินที่ควรมีนั้นสามารถคำนวณง่ายๆ ได้ดังนี้
เงิมออมเผื่อฉุกเฉิน = รายจ่ายประจำต่อเดือน x 6
เช่น จากตัวอย่าง ถ้านาย A มีรายจ่ายประจำต่อเดือน เดือนละ 25,000 บาท
เงินออมเผื่อฉุกเฉินที่เขาควรมี = 150,000 บาท เพื่อที่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันใดๆ ขึ้น เขาก็สามารถดำรงชีวิตได้อยู่เป็นเวลา 6 เดือนนั่นเอง
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณควรตรวจสุขภาพการเงินของตนเอง เหมือนการตรวจสุขภาพร่างกายที่ทำทุกๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี ทั้งนี้เพื่อรู้ถึงปัญหาและหาทางแก้ไข รักษาสุขภาพการเงินของตนเอง ก่อนที่จะเกิดภาระหนี้สะสมจนสายเกินไป
สุดท้ายนี้ ก็ขอให้ทุกคนมีสุขภาพทางการเงินที่ดีไม่แพ้สุขภาพร่างกายจิตใจที่แข็งแรงกันนะครับ