“มนุษย์ฟรีแลนซ์” บริหารเงินยังไง? ให้อยู่รอดอย่างมั่นคง

“ฟรีแลนซ์” ไม่ต่างจาก “เจ้าของธุรกิจ”

เมื่อโลกดิจิตอลเข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต เด็กรุ่นใหม่เติบโตและคุ้นเคยกับเทคโนโลยี ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย หนึ่งในอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองคงหนีไม่พ้นการทำงานด้านดิจิตอล ทั้งการเป็นเจ้าของแฟนเพจ, Youtuber, แข่งขัน E-Sport, ขายของออนไลน์ หรือ รวมแล้วก็เรียกว่าเป็น “ฟรีแลนซ์” นั่นเอง

“ชาวฟรีแลนซ์” ไม่ต่างจาก “เจ้าของธุรกิจ” จึงต้องรู้จักบริหารเวลา บริหารเงินเอง เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดได้นานๆ มาดู 7 วิธีบริหารเงิน ยังไงให้อยู่รอด พร้อมสร้างความมั่นคงในชีวิต…

1) เขียนรายจ่าย มาก่อน รายรับ

คนทั่วไปที่มีรายได้ประจำจะคำนึงถึงรายรับก่อนรายจ่าย แต่ชาวฟรีแลนซ์นั้น ให้คำนึงรายจ่ายก่อนรายรับ เพราะเรามีรายจ่ายถาวร แต่ไม่มีรายได้ถาวร การทำงบจะช่วยให้รู้ว่าควรใช้จ่ายและรับงานในแต่ละเดือนอย่างไร ดังนั้น จึงควรเขียนรายรับ-จ่าย ที่มี ทำรายการล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 6 เดือนหรือ 1 ปี โดยระบุจำนวนเงิน และวันที่จะได้รับเงิน และต้องจ่ายเงินในแต่ละเดือนไหนให้ชัดเจน จะได้รู้สถานะการเงินของตัวเองตลอดเวลา

2) กำหนดเงินเดือนให้ตัวเอง

ฟรีแลนซ์ แปลว่า อิสระ นอกจากจะอิสระทางด้านเวลา รายได้ของคุณก็เป็นอิสระด้วยเช่นเดียวกัน ไม่มีใครกำหนดรายได้ว่าคุณต้องการเท่าไรนอกจากตัวคุณเอง การกำหนดเงินเดือนให้ตัวเอง ทำให้การประเมินรายจ่ายง่ายมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มีวินัยในการใช้เงิน

3) เงินสำรอง “ตัวช่วย” ยามเงินหด

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน คุณควรเตรียมเงินถุงเงินถังให้เพียงพอขั้นต่ำ 6 เดือน – 1 ปี เพราะไม่มีใครรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร และไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตจะมาเมื่อไร คุณควรมองหารายได้หลายช่องทาง เพื่อรองรับในวันที่คุณไม่สามารถทำงานได้ ชีวิตที่ไม่มีแพลนบี ก็คือชีวิตที่ไม่มีแผนสำรอง

4) ตัดกำไร 10 – 20% เพื่อออมลงทุน

ไม่จริงเลย ที่ใครเขาบอกว่า.. ต้นทุนของการทำงานฟรีแลนซ์มีแค่เรื่องเวลา ยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำงาน และความเสื่อมของคอมพิวเตอร์ เมื่อหักต้นทุนไปแล้ว เงินที่เป็นกำไร ควรแบ่งออมส่วนหนึ่ง เพื่อเป้าหมายทางการเงินต่างๆ ในอนาคต และศึกษาการลงทุนไปพร้อมกันไปด้วย จะได้วางเงินให้งอกเงย เพราะการฝากไว้แค่ออมทรัพย์ คงไม่รอดแล้วในยุคนี้

5) อดใจเป็น ไม่สร้างสุขสั้นแต่ทุกข์ยาว

โอ้โห เงินก้อนยักษ์อยู่ในมือ ใครกันจะอดใจไหว! สิ่งที่ชาวฟรีแลนซ์แตกต่างจากการทำงานประจำคือได้เงินมา ก็จะเป็นเงินก้อนยักษ์ใหญ่ อำนาจการจับจ่ายใช้สอยอยู่ในมือ อาจจะทำให้ซื้อของที่อยากได้โดยขาดความยับยั้งช่างใจ การซื้อของชิ้นใหญ่ควรมีการคำนวณถึงเงินในระยะยาวด้วยว่า จะเพียงพอในอนาคตหรือไม่

6) “ประกัน” ต้องมีไว้ อุ่นใจยามเจ็บป่วย

เมื่อไม่มีเพดานรายได้ ความขยันจะมีส่วนช่วยให้คุณทำงานหนัก เพื่อให้มีรายได้มากยิ่งขึ้น และแน่นอน การทำงานหนัก แลกมาด้วยต้นทุนเรื่องสุขภาพ วันใดที่เจ็บป่วย ไม่ใช่วันที่คุณเสียแค่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แต่เป็นวันที่งานคุณหยุดชะงัก และไม่มีรายได้ ดังนั้น การทำประกันสุขภาพ เพื่อกันไม่ให้เงินสำรองของคุณรั่วไหลก็เป็นแผนที่ควรทำ

7) ไม่ละเลยแผนเกษียณ

“แผนเกษียณ” เรื่องสำคัญ และเป็นแผนที่คุณไม่ควรละเลย ควรแบ่งเงินเพื่อเป้าหมายเกษียณด้วย
สำหรับมือใหม่ การลงทุนในกองทุน RMF และ SSF เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีมืออาชีพคอยบริหารเงินให้เรา จะได้ไม่ลำบากในยามแก่ชรา
Facebook Comments
SHARE
Titaree Thanankhunthon
สร้างสรรค์ไอเดียผ่านโลกดิจิตอล ด้วยแนวคิด "Positive Thinking" เพื่อเป็นประโยชน์ให้สังคม