เงินไม่พอใช้ หมดก่อนถึงสิ้นเดือนทุกที!!
แล้วจะเอาที่ไหน ไปออม ไปลงทุน
ปัญหานี้จะไม่เกิด ถ้าเรารู้จัก Kakeibo 家計簿 (คาเคโบะ) ศิลปะการจัดการเรื่องเงินของ “แม่บ้านญี่ปุ่น” ที่มีมายาวนานมากกว่า 100 ปี มาดูกันว่า ถ้าเราอยาก “จัดการเรื่องเงิน” ให้ดีขึ้นแบบคนญี่ปุ่น เค้าทำยังไงกัน?
Kakeibo คืออะไร?
“Kakeibo” (คาเคโบะ) คือ คำที่ใช้เรียกวิธีการใช้จ่ายเงินของคนญี่ปุ่น โดยมีความหมายแบบตรงตัว คือ “สมุดบัญชีการเงินสำหรับครัวเรือน” (Household Financial Ledger)
ซึ่งวิธีการนี้มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 ถูกคิดค้นโดย “Hani Motoko” นักหนังสือพิมพ์หญิงคนแรกของญี่ปุ่น ที่ต้องการหาวิธีการออมเงินและจัดการงบประมาณรายรับรายจ่ายให้ครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น
เคล็ดลับของ Kakeibo คือ การจดบันทึกรายรับรายจ่าย “อย่างซื่อสัตย์ด้วยมือของตัวเอง” ในแต่ละเดือน เพื่อให้สัญญากับตัวเองว่า จะปรับปรุงให้ดีขึ้นในเดือนต่อๆ ไป
โดยแบ่งขั้นตอน การจดบันทึกเป็น 4 คำถาม ดังรูปต่อไป
4 คำถาม ช่วยให้ออมเงินสำเร็จ ในแต่ละเดือน!
1. คุณมีรายได้ และค่าใช้จ่ายเท่าไหร่?
สรุปรายรับที่เข้ามา ว่ามีรายได้จากทางไหนบ้าง? และรวมทั้งหมดเป็นเงินเท่าไหร่? และนำมาหักลบกับรายจ่ายประจำ คำนวณออกมา เพื่อดูว่าเราจะมีเงินเหลือหรือไม่?
2. คุณอยากออมเงินให้ได้เท่าไหร่?
ตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง ว่าอยากจะออมเงินให้ได้เท่าไหร่ โดยประเมินจากความสามารถที่สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ควรง่ายเกินไปจนไม่ท้าทายความสามารถของเรา
3. คุณใช้เงินไปเท่าไหร่? ในเดือนนี้
เขียนรายจ่าย ที่ใช้ไปทั้งหมดในเดือนนี้ โดยแยกรายจ่ายออกตามหมวดหมู่ต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง หรือค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ แจกแจงค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกมาให้ละเอียด
4. คุณจะปรับปรุงอะไรบ้าง? ในเดือนหน้า
ทบทวนแผนการใช้จ่ายของคุณอีกครั้ง เพื่อให้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นคิดวิธีแก้ปัญา เพื่อปรับปรุงวิธีการออมในเดือนต่อไปให้ดีขึ้นกว่าเดิม
“3 ขั้นตอน” ออมเงินแบบ Kakeibo
1. แยกประเภทรายรับ และรายจ่าย
ปัญหาของคนที่ล้มเหลวในการออมเงินส่วนใหญ่คือ ไม่มีเเบบเเผนที่ชัดเจน เเละวินัยสม่ำเสมอ ในการเริ่มทำสมุดบัญชีครัวเรือนนั้น ขั้นเเรกเราต้องเเบ่ง “รายรับ เเละ รายจ่าย” ออกให้ชัดเจน
โดยเขียนทุกอย่างออกมาว่าใน 1เดือนที่ผ่านมา เรามีรายได้เท่าไหร่ เเละใช้จ่ายกับเรื่องอะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าไหร่ เเนะนำให้เขียนเหตุผลความจำเป็นของตัวเองเอาไว้ด้วยก็ยิ่งดี
2. ตั้งเป้าว่าจะออมเท่าไหร่ต่อเดือน
สิ่งหนึ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคือการลดค่าใช้จ่ายจะช่วยให้เราออมเงินได้เยอะขึ้นอัตโนมัติ เเต่เเท้จริงเเล้วมีวธีที่ได้ผลมากกว่านั้น
นั่นคือการ “ตั้งเป้า” ให้กับสมาชิกทุกคนเลย ว่าครอบครัวเราควรจะออมเงินต่อเดือนเท่าไหร่ จากนั้นจึงสรุป “เเผนปฏิบัติการ” แล้วแบ่งหน้าที่ว่าใครรับผิดชอบส่วนไหน เขียนรายการออกมาให้ชัดเจน ว่าวิธีไหนจะช่วยเพิ่มเงินออมให้สำหรับครอบครัวได้บ้าง
เเต่การตึงไปก็ไม่ดี เเม่บ้านญี่ปุ่นจึงมีวิธีจูงใจคนในครอบครัวง่ายๆ ด้วยการ “ให้รางวัล” เมื่อถึงเป้าหมายเงินออมเเล้ว
อาจเป็นการเอาเงินก้อนนั้นไปซื้อสิ่งของที่ดีกว่า หรือใหญ่กว่าให้ครอบครัว หรืออาจจะเป็นทริปท่องเที่ยวต่างจังหวัด เชื่อว่านำความสุขมาให้ทุกคนเเน่นอน
3. วางเป้าหมายเงินออมก้อนใหญ่ในระยะยาว
ในประเทศญี่ปุ่น ความเป็นอยู่ของผู้คนมักจะฝึกให้คุ้นชินกับเรื่องราวอันไม่คาดฝันค่อนข้างยอะ เพราะเกิดเเผ่นดินไหวบ่อย เเละภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกระทันหัน
ดังนั้นเพื่อเตรียมตัวรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น วิธีที่แม่บ้านต้องการสร้างเงินออมก้อนใหญ่ให้ครอบครัว คือ คาดการณ์เงินสำรองฉุกสำหรับสมาชิกเเต่ละคนว่าควรมีเท่าไหร่
เมื่อคาดกาณ์แล้ว คำถามต่อไปคือ “เงินออมยังขาดจากเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน?” เพราะคุณฮานิเห็นว่า คนเราจะมีวินัยมากกว่าถ้าเห็นชัดว่าอีกนานเเค่ไหนถึงจะสำเร็จ
การที่เราได้เห็นความคืบหน้าทีละเล็ก ทีละน้อยของตัวเองจะทำให้เรามีกำลังใจเเละมุ่งสู้เป้าหมายได้อย่างมีความหวังมากขึ้น
Facebook Comments