7 แนวคิดของคนทำงาน “ระดับท็อป”

คนเก่งๆ ที่คุณเห็น อาจไม่ได้เก่ง ด้วยพรสวรรค์เหมือนกันหมด
เพราะ AI ที่ก้าวล้ำพบว่า …
พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ทำให้พนักงานระดับท็อป 5%
ทำงานดี และเร็วแบบทิ้งห่างพนักงานทั่วไปอีก 95%
อย่างไม่น่าเชื่อ และคุณเองก็ทำได้เช่นกัน

(*อ้างอิงจากหนังสือ “นิสัยคนเก่งระดับท็อป 5% ที่ AI ค้นพบ” โดย ชินจิ โคชิคาวะ)

1.ให้ความสำคัญกับ “ผลลัพธ์” มากกว่าขั้นตอน

แทนที่จะตั้งเป้าที่ความสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก การลงมือทำพร้อมกับค่อยๆ ปรับแก้ไปเรื่อยๆ จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ง่ายกว่า นั่นหมายถึง ไม่ต้องรอจน 100% แค่มีข้อมูล 60% ก็เริ่มทยอยทำได้แล้ว และหากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็ค่อยๆ ปรับ

พนักงานระดับท็อปจะคิดอยู่เสมอว่า ต้องลงมือทำทันทีหลังจากรวบรวมข้อมูลได้ “ส่วนหนึ่ง” ดังนั้นพวกเขาจึงรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเวลาและความถูกต้องในระดับนึงเอาไว้

โดยจะกำหนดระดับความถูกต้อง หรือเป้าหมายไว้ที่ 80% เขาจะไม่ตั้งเป้าไปที่ความสมบูรณ์แบบ 100% วิธีนี้จะช่วยให้งานเดินหน้า และนำไปสู่ผลลัพธ์ได้ง่าย

2. จะไปสู่ความสำเร็จได้ “ต้องลองผิดพลาดให้มาก”

พนักงานระดับเขามองว่าการพัฒนาส่วนใหญ่ เกิดจากประสบการณ์ทำงานในแต่ละวัน ต่อให้ไม่ลาออกไปทำงานที่ใหม่แต่การย้ายสังกัดภายในบริษัทเดิมก็เหมือนการเปลี่ยนงานใหม่

พนักงานระดับท็อปเหล่านี้จะนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับงาน ความคิดที่ว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราไม่ใช่เรื่องไร้ค่า จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้ดียิ่งกว่าสิ่งใด

3. สิ่งสำคัญในการทำงานคือ “คุณภาพ” ไม่ใช่ปริมาณ

บริษัทหลายแห่งได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการทำงานแบบเน้น “ผลงาน” กล่าวได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่พนักงานได้รับการประเมินจากคุณภาพของผลงานที่ได้จากการทำงานอย่างหนัก แทนการประเมินจากระยะเวลาในการทำงาน นั่นคือการเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณนั่นเอง

เช่นเดียวกับพนักงานระดับท็อปที่จะใช้เวลาทำเอกสารน้อยกว่าพนักงานทั่วไป 20% โดยเอกสารที่ทำจะมีจำนวนหน้าไม่มาก และมีความยาวไม่เกินหน้าเดียว เพราะคนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับ “สิ่งที่ต้องการสื่อสาร” มากกว่า “ความยาวในการสื่อสาร”

พูดง่ายๆ ว่าพนักงานระดับท็อปไม่ใช่คนที่ทำสไลด์นำเสนองานเก่ง แต่เป็นคนที่กำหนดเนื้อหาที่ควรเขียนลงไปในเอกสารเก่ง คนกลุ่มนี้จะหากลยุทธ์ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อจูงใจให้อีกฝ่ายเห็นด้วย หรือทำในสิ่งที่เราต้องการ

4. ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว “ก็ต้องหาสาเหตุให้เจอ”

การพิจารณาตนเองเฉพาะเวลาที่ทำพลาด อาจช่วยป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำแต่ไม่ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำสำเร็จ ไม่ว่าจะความสำเร็จ หรือความผิดพลาดย่อมมีสาเหตุเสมอ หากค้นหาสาเหตุนั้นให้เจอเราจะรู้เส้นทางสู่ความสำเร็จ เมื่อเส้นทางนั้นมั่นคงแล้วจะนำไปสู่การสร้างผลสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง

5. “กำหนดเวลา” เพื่อพิจารณาการทำงานของตน

พนักงานระดับท็อปจะใช้เวลาพิจารณาตัวเอง 15 นาที แล้วจะพยายามนำข้อผิดพลาดหรือสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ประโยชน์ในงานต่อไปโดยเฉพาะ 3 สิ่งที่เป็นตัวขโมยเวลาในการทำงาน ได้แก่ ประชุมภายในบริษัท การทำเอกสาร การเช็คอีเมล

หากไม่ทบทวนพฤติกรรมการทำงานของตัวเองเราก็จะไม่รู้ว่าทำสำเร็จหรือไม่ ทำไมถึงทำพลาด อะไรคือต้นตอของปัญหา ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จโดยใช้เวลาน้อยสุด เราต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้แล้วค่อยปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมให้ถูกต้อง

6. “ฟีดแบ็ก” คือสิ่งล้ำค่า

การถามความคิดเห็นระหว่างขั้นตอนการทำงานจะช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกมีส่วนร่วมด้วย การที่ลูกค้าหรือหัวหน้าคิดว่านี่คือผลงานของตัวเองจะช่วยให้เขายอมรับงานชิ้นนั้นได้ง่าย เกิดความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้

และถึงแม้จะได้รับความเห็นในแง่ลบก็ไม่ต้องคิดมากแค่นำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้แก้ไขกับงานครั้งใหม่ก็พอ เพราะการได้รับฟีดแบ็กแต่เรื่องที่ดีเป็นเรื่องอันตราย หากเราไม่ได้รับฟีดแบ็กเพื่อปรับปรุงตนเองจึงไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์มากนัก

7. มักทำงานแต่เนิ่นๆ

พนักงานระดับท็อปเริ่มลุยงานแต่ช่วงเช้าๆ ที่สมองยังปลอดโปร่ง เพื่อให้เสร็จงานสำคัญในเวลางาน เพราะพพวกเขารู้ว่าหากรอให้ถึงวันจริงหรือถึงเวลาแล้วค่อยทำจะทำให้คุณภาพของงานลดลง พวกเขาจึงมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อลดความสูญเสียจากการเร่งรีบ

และมักกำหนดงานที่ต้องทำในวันพรุ่งนี้เอาไว้ล่วงหน้า ก่อนเลิกงาน แม้จะเป็นการประเมิน แต่การรู้ว่าพรุ่งนี้มีงานต้องทำมากแค่ไหน จะช่วยวางแผนล่วงหน้าในการทำงานของวันถัดไป

Facebook Comments